Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

เมื่อลูกน้อยนอนกรน อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อมอะดีนอยด์โต

5 ก.ค. 2567


ปัญหานอนกรนในเด็กเกิดจากสาเหตุอะไร ?

     ปัญหาอาการนอนกรนในเด็ก เป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายคนมองข้าม เพราะคิดว่าไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ความจริงอาการนอนกรนในเด็กเป็นปัญหาที่อันตรายต่อสุขภาพอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่ภาวะนอนกรนจะพบบ่อยในช่วงอายุก่อนวัยเรียนหรือในช่วงวัยอนุบาล ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 2 – 6 ปี เนื่องจากเด็กวัยนี้จะมีต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์ ที่ทำให้เกิดการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจจนเกิดเสียงกรนที่อาจเกิดเป็นภาวะอันตราย ส่วนใหญ่ มักมีสาเหตุหลักจากต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โตจากการอักเสบซ้ำ ๆของอาการภูมิแพ้หรือเป็นหวัดบ่อย ๆ

ต่อมอะดีนอยด์คืออะไร ?

     ต่อมอะดีนอยด์ (adenoid) เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก (nasopharynx)  มีโครงสร้างภายในใกล้เคียงกับต่อมทอนซิล (tonsils)  มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรค และผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคคออักเสบ โรคโพรงไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือโรคหลอดลมอักเสบ เป็นต้น ต่อมอดีนอยด์จะทำหน้าที่มากในช่วงวัยเด็ก (1-10 ปี) และจะทำหน้าที่น้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น  หลังจากนั้นจะลดขนาดลง และไม่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคในผู้ใหญ่

อาการของภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นในเด็ก

     เป็นการอุดกั้นของทางเดินหายใจสามารถเกิดได้จากความผิดปกติตั้งแต่บริเวณ หลังโพรงจมูก (nasal cavity) เหนือกล่องเสียงขึ้นไปได้แก่  คอหลังช่องปาก (and hypopharynx) และบริเวณเหนือกล่องเสียง (supraglottic)

    ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนเป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็ก  หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้ เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ทั้งต่อการเจริญเติบโต การหายใจ รวมถึงทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจจากขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ตามมาได้ ทำให้มีอาการดังนี้

         - นอนหายใจมีเสียงค่อนข้างดัง
         - มีอาการนอนกรน
         - มักจะนอนอ้าปากหายใจ
         - หากเป็นมากเด็กบางรายอาจจะหยุดหายใจขณะหลับเป็นช่วงๆ
         - บางรายมีอาการปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ
         - หรือมีพฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ขาดสมาธิในการเรียน ผลการเรียนแย่ลง และเติบโตช้ากว่าวัย


     ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับ เป็นอันตรายและอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงเสียชีวิตได้

การหยุดหายใจขณะหลับทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน มีผลต่อการทำงานของสมองและพัฒนาการ ทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน และการทำกิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโต และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมถึงทำให้หัวใจทำงานหนัก จนถึงขั้นภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การหยุดหายใจขณะหลับยังทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นของเสียค้างอยู่ภายในร่างกาย ทำให้เด็กมีอาการปวดศีรษะในตอนเช้าได้

แนวทางการรักษา
     1. การปรับพฤติกรรมที่เสี่ยง ดูแลและปฏิบัติตัวเบื้องต้น

          - ควบคุมการรับประทานอาหาร ให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
          - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
          - ปรับท่านอนเป็นท่านอนตะแคงจะช่วยให้อาการลดลง
          - นอนให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการอดนอน พักผ่อนให้เพียงพอในแต่ล่ะวัน
          - หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ มลภาวะ และสารกระตุ้นภูมิแพ้ต่างๆ
     2. รักษาปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่เป็นสาเหตุ เช่น
          - โรคเยื่อบุจมูก อักเสบจากภูมิแพ้
          - การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โพรงจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ทอมซิลอักเสบ
          - ต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต
     3. การใช้เครื่องช่วยสร้างแรงดันบวกในทางเดินหายใจ

          (Positive airway pressure therapy, PAP) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง เพื่อรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ

     4. การใช้เครื่องมือในช่องปาก / อุปกรณ์ทางทันตกรรม

          วิธีนี้ได้ผลดีในเด็กบางรายที่มีอาการไม่รุนแรง
     5. การรักษาด้วยการผ่าตัด

          มีการผ่าตัดได้หลายวิธี ขึ้นกับระดับความรุนแรงและอวัยวะที่ทำให้เกิดการอุดกั้นขณะนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจแต่หากเราไม่แน่ใจว่าเรามีอาการ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) หรือไม่ก็สามารถทำการวินิจฉัยก่อนได้

การตรวจสุขภาพการนอนหลับ และภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (Sleep Test / Polysomnography)

    เป็นการตรวจวิเคราะห์ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายขณะหลับเพื่อหาสาเหตุของโรคและความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ โดยจะติดตั้งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจจับและบันทึกการทำงานของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบการหายใจ, ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวช่วยในการหาความผิดปกติของร่างกายขณะนอนหลับ

การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ จะเกิดผลเสียต่อเด็กไหม ?

    คำถามนี้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเป็นกังวลว่าการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์จะเกิดผลเสียต่อตัวเด็กหรือไม่ ในการผ่าตัดส่วนนี้จะไม่เกิดผลเสียด้านความสามารถของร่างกาย ในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเนื่องจากร่างกายนั้นมีระบบต่อมน้ำเหลืองอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถทำงานทดแทนต่อมอะดีนอยด์ที่ถูกตัดออกไปได้ รวมถึงบทบาทของต่อมอะดีนอยด์ก็จะลดน้อยลงและต่อมจะมีขนาดเล็กลงในเด็กที่อายุมากกว่า 5-7 ปี เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลหากต้องเข้ารับการรักษา

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.อภิสร์ญา พิสิฐตระกูลพร แพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก

ศูนย์การแพทย์ ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ ศูนย์หู คอ จมูก

     

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.